10 ข้อห้ามเวลาไปทำบุญ แล้วทำไมถึงห้ามทำ?

https://creators.trueid.net/s3/files/styles/cover_photo_1600w/public/2022-07/20220711-2.jpg?itok=Jq-wMRRr

วันที่ 13 กรกฎาคม เป็นวันเข้าพรรษาแล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนที่กำลังเข้ามาอ่านบทความของผม ก็อาจจะเตรียมตัวเพื่อไปเข้าวัด ทำบุญกันนะครับ ซึ่งถ้าหากมาพูดถึงเรื่องที่ต้องทำในการไปทำบุญ ก็อาจจะพูดยากนะครับ เพราะว่าในแต่ละครอบครัว แต่ละคนก็มีวิธีการปฏิบัติที่ต่างกันไป แต่ในบทความของ TamKung วันนี้ เราจะมาพูดถึง 10 ข้อห้ามเวลาไปทำบุญ ไม่ควรทำอะไร และทำไมถึงทำไม่ได้กันครับ


https://creators.trueid.net/s3/files/styles/cover_photo_1024w/public/inline-images/20220711-1_0006_Background.png?itok=FTgQTUG4

การไปทำบุญนับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการทำความดี นับว่าเป็นกรรมดี เป็นการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์นะครับ โดยเป็นการกระทำความดีตามหลักคำสอนในศาสนา เพื่อเพิ่มพูนความดี และเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ได้ออกไปจากใจ การทำบุญนำความสุขมาให้ ทำให้จิตใจของเราแบ่งบานไปด้วยบุญ เราจะเห็นได้ว่า ทุกเดือนเรามีวันพระ หากใครที่ว่างหรืออยากทำบุญก็จะนับเอาเวลานี้ไปทำบุญ ตักบาตร แต่หลายครั้งเราก็อาจจะทำอะไรไปไม่ถูกไปบ้าง วันนี้เรามี 10 ข้อห้าม ไม่ควรทำเวลาไปทำบุญที่วัดกันครับ


  1. ห้ามถวายเนื้อ 10 ชนิดเพื่อใส่บาตรา

ตามหลักทางศาสนาแล้ว พระภิกษุสามเณรจะสามารถฉันเนื้อได้ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อไก่ แต่จะมีอยู่ทั้งหมด 10 ชนิดที่เป็นเนื้อ ห้ามนำมาใส่บาตร หรือการปรุงเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ โดยจะมี เนื้อมนุษย์ เนื้อม้า เนื้อช้าง เนื้องู เนื้อหมี เนื้อหมา เนื้อสิงโต เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลืองและเนื้อเสือดาว

โดยนับว่าเป็นข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน ตามพระไตรปิฎก เล่มที่ 5 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 มหาวรรค ภาค 2 ครับ


  1. แต่งกายให้เหมาะสม สำรวม ห้ามใส่กางเกงขาสั้น

https://creators.trueid.net/s3/files/styles/cover_photo_1024w/public/inline-images/20220711-1_0000_Layer-3.png?itok=o1eSa1gB

เพราะเรื่องของการแต่งตัว เราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปให้ทันตามโลก แต่การที่เราจะเข้าวัด ไปทำบุญก็อยากจะให้เราเลือกชุดหรือเสื้อผ้าให้มีความเหมาะสมกันสักหน่อย ไม่ควรใส่ชุดรัดรูป สายเดี่ยวเอวลอย ขาสั้นเข้าวัดจะดีกว่านะครับ เนื่องจากเราถือว่าพื้นที่ของวัด เป็นพื้นที่สำหรับที่พึ่งพาทางจิตใจ ให้สงบ การแต่งกายแบบสำรวม ก็จะถือว่าเป็นอะไรที่เรียบร้อยมากกว่าครับ


  1. ไม่ควรนำสุรา หรือของมึนเมาเข้าไปในวัด

จำเวลาเราท่องศีล 5 ข้อได้ไหมครับ "สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี" เครื่องดื่มเหล่านี้หากดื่มไปก็จะเป็นตัวที่ก่อให้เกิดความประมาท หรือทำให้สติของเรานั้นหายไป อาจจะสร้างความเดือนร้อนให้กับผู้คนรอบข้างได้ ทางที่ดี ช่วงเข้าพรรษานี้ก็ลองงดดื่มสุราดูก็ได้ครับ

และอีกหนึ่งเหตุผลคือ ทางมหาเถรสมาคมมีมติห้ามดื่มเหล้าในวัดทั่วประเทศตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยนะครับ โดยหากที่มีใครฝ่าฝืน ก็มีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยิ่งไปกว่านั้น หากพบว่าพระสงฆ์ทำผิดเสียเอง ถือโทษเป็น 2 เด้ง คือ ถูกจับสึก-ออกไปรับโทษตาม กฎหมายอีกด้วยครับ อย่างน้อยก็ เว้นไว้พื้นที่หนึ่งก็ยังดีนะครับ


  1. ไม่ควรถ่ายรูปผู้คนที่กำลังทำกิจกรรม หรือพิธีทางศาสนา

https://creators.trueid.net/s3/files/styles/cover_photo_1024w/public/inline-images/20220711-1_0004_IMG_3618.png?itok=xmTKp2_q

เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นที่รู้กันมานานแล้ว เนื่องจากการกำลังทำกิจกรรม หรือพิธีทางศาสนานับว่าเป็นเรื่องของส่วนบุคคล การที่คนอื่นจะมาถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปก็นับว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลนะครับ ทางที่ดี หากจะถ่ายอะไรก็ลองเว้นๆ ไม่ให้ถ่ายติดคนอื่นๆ หรือหากมันต้องถ่ายจริงๆ ก็ไปข้ออนุญาตคนในภาพก่อน เพื่อถามความสมัครใจนะครับ


  1. ไม่ควรขึ้นไปเหยียบบนพื้นที่ต้องห้าม หรือพื้นที่โบราณสถานภายในวัด

แม้ว่าพื้นที่ของวัดจะเปิดให้เราเข้าไปใช้งานได้เต็มที่ หรือจะไปทำบุญตรงไหนก็ไม่มีปัญหา แต่หากเป็นพื้นที่ที่ทางวัดได้ปิดกั้นไว้ หรือเป็นโบราณสถานภายในวัด บางทีเราอาจจะต้องเว้นไว้หน่อย เนื่องจากโบราณสถานภายในวัดอาจจะเป็นสถานที่โบราณที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ หรือเป็นที่รวมจิตใจของคนแถวนั้นนะครับ และบางทีโบราณสถานภายในวัดก็อาจจะมีความเก่าและอาจสามารถผังลงมาได้ง่าย การไม่เข้าไปเหยียบ ไปสร้างความเสียหายก็จะเป็นการดีในการทำบุญต่อไปนะครับ


  1. ห้ามสูบบุหรี่ภายในวัด

https://creators.trueid.net/s3/files/styles/cover_photo_1024w/public/inline-images/20220711-1_0005_IMG_4230.png?itok=tzQeqPIO

พื้นที่ของวัด นับว่าเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เพราะว่าวัดนับว่าเป็นพื้นที่ทางศาสนา ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย ดังนั้นวัดและพระสงฆ์จึงควรเป็นผู้นำของสังคม ในการปลอดจากการเสพติดบุหรี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นพิษภัยทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น อย่างน้อยก็เป็นการป้องกันอุบัติเหตุได้ เพราะบางครั้งบุหรี่ที่ยังไม่ดับดีอาจจะก่อเป็นเพลิงไฟได้ เป็นปัญหาเข้าไปใหญ่ครับ เพราะงั้นแล้วหากจะเข้าไปทำบุญ ก็อาจจะต้องงดสูบบุหรี่กันสักครู่หนึ่งนะครับ


  1. ผู้หญิงไม่ควรอยู่ตามลำพังหรือแตะตัวพระสงฆ์

เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ทั่วไปอยู่แล้ว คือการที่ผู้หญิงไม่ควรอยู่ตามลำพังหรือแตะตัวพระสงฆ์ เนื่องจากในบทบัญญัติวินัยของภิกษุหมวดอาบัติ สังฆาทิเสสข้อ 2 เขียนสรุปไว้ว่า หากภิกษุมีความรู้สึกพึงพอใจ หรือมีอารมณ์ทางเพศกับสุภาพสตรีแล้วเอามือไปสัมผัสถูกกายสุภาพสตรี หรือภิกษุเอาร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งของภิกษุไปสัมผัสเข้ากับกายของสตรี ภิกษุนั้นต้องอาบัติ "สังฆาทิเสส"ครับ เพราะฉะนั้นแล้วพระเองก็ห้ามต้องตัวผู้หญิง ผู้หญิงก็ห้ามแตะต้องตัวพระเองเช่นกันครับ

https://creators.trueid.net/s3/files/styles/cover_photo_1024w/public/inline-images/20220711-1_0002_Layer-1.png?itok=GWPf_nY6


  1. ไม่ควรถวายข้าวสาร อาหารแห้ง หรือเนื้อสดในบาตรพระ

แม้ว่าตามหลักทางศาสนาแล้ว พระภิกษุสามเณรจะสามารถฉันเนื้อได้ แต่ก็นับว่าไม่ควรถวายเนื้อสด ข้าวสาร อาหารแห้งในบาตรพระครับ เนื่องจากตามพระวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่อาจะสามารถประกอบอาหารเองได้ และพระท่านเองก็ไม่ควรเก็บอาหารข้ามวันครับ ดังนั้นหากต้องการถวายอาหารก็ควรเป็นอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว และหากต้องการถวายข้าวสาร อาหารแห้ง ก็อาจจะถวายให้กับทางวัด เพื่อเก็บเข้าโรงทานจะเหมาะสมมากกว่าครับ


  1. ไม่ส่งเสียงดังในพื้นที่บริเวณวัด

เพราะว่าพื้นที่ของวัด นับว่าเป็นพื้นที่สำหรับความสงบ ทั้งพระสงฆ์และคนอื่นๆ ทั่วไปอาจจะใช้พื้นที่ของวัดเพื่อทำให้จิตใจสงบ การเข้ามาแล้วส่งเสียงรบกวนไปทั่ว นอกจากจะทำให้ทุกอย่างดูเลวร้ายแล้ว ก็อาจจะทำให้มีบทลงโทษทางกฏหมายได้ด้วยครับ

แล้วถามว่าหากต้องการจัดงานที่มีเสียงต้องทำยังไง? เราก็ต้องติดต่อกับทางวัดก่อนแล้วพยายามใช้เสียงให้เบาที่สุดครับ เพื่อจะได้ไม่ไปก่อกวนคนอื่นๆ หรือบริเวณโดยรอบนั่นเองครับ

https://creators.trueid.net/s3/files/styles/cover_photo_1024w/public/inline-images/20220711-1_0003_IMG_8185.png?itok=7e0aV0Jf


  1. ไม่ควรนำเงินใส่ลงไปในบาตรพระ

จริงๆ แล้วหลายคนอาจจะเคยนำเงินที่ต้องการถวายใส่ลงไปในบาตรพระ อันที่จริงแล้ว นับว่าเป็นการทำที่ไม่ควรมากครับ เนื่องจากจะนับว่าเป็นการผิดพระธรรมวินัย เพราะการที่พระสงฆ์รับเงินนั้นถือว่าเป็นการอาบัติทุกกรณี หากใครที่ต้องการนำเงินมาบริจาค ก็ควรจะใช้วิธีการหย่อนลงในกล่องรับบริจาคจะดีที่สุดครับ โดยจะเป็นการทำบุญสร้างโบสถ์หรือการทำบุญค่าน้ำค่าไฟให้กับทางวัดก็ได้


อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่ 10 ข้อห้ามเวลาไปทำบุญ แล้วทำไมถึงห้ามทำ? ในช่วงเวลาอันดีแบบนี้ก็อยากจะชวนให้ไปทำบุญเนื่องในวันเข้าพรรษานะครับ อยู่ในพื้นที่แออัดก็อย่าลืมสวมหน้ากากด้วย ขับขี่ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์นะครับ หรือหากใครที่เดินทางไม่ได้ ขอแค่มีจิตใจที่งดงามก็เป็นสิ่งที่ดีที่น่าจะทำได้นะครับ แล้วเพื่อนๆ เดินทางไปทำบุญที่ไหน มีประสบการณ์อย่างไรกันบ้าง ก็สามารถมาแบ่งปันความคิดเห็น ประสบการณ์กันได้นะครับ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น